องค์ความรู้เรื่องการผลิตข้าวเหนียวเขี้ยวงู

ข้าวเหนียวเขี้ยวงู 8974 (Khao Niew Khiaw Ngoo 8974)

คนไทยบริโภคข้าวเหนียวใน 2 ลักษณะ คือเป็นข้าวเหนียวในมื้ออาหารปกติร่วมกับ อาหารคาวหวาน ซึ่งมีข้าวเหนียวหลากหลายพันธุ์เป็นทางเลือก อีกลักษณะหนึ่ง คือในรูป ขนม หรือของหวาน เช่น ข้าวเหนียวมูน ข้าวมันปิ้ง ข้าวต้มมัด เป็นต้น ข้าวเหนียวที่ทำข้าวเหนียวมูนได้อร่อยที่สุด คือ ข้าวเหนียวเขี้ยวงู และแหล่งปลูกข้าวเหนียวเขี้ยวงูที่มีคุณภาพทำข้าวเหนียวมูน หรือของหวานอื่นๆ ที่อร่อยที่สุดของประเทศ คือจากจังหวัดเชียงราย เนื่องจากมี่พื้นที่ที่มีน้ำหล่อเลี้ยงอุดมสมบูรณ์ และยังมีแหล่งน้ำพุร้อนป่าตึง ที่อยู่ตอนต้นน้ำแม่จัน ที่พัดพาแร่ธาตุมาสะสม สร้างความอุดมสมบูรณ์แก่พื้นที่ลุ่มน้ำมานับล้านปี จึงนับเป็นแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญ มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่มีมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ความสำคัญของพื้นที่นี้ คือเป็นแหล่งปลูกข้าวเพื่อสะสมเสบียงอาหาร เพื่อใช้ในการทำศึกสงครามในสมัยโบราณ โดยปรากฏหลักฐานการตั้งชุมชน โดยพบ ถ้วย ชาม เครื่องใช้ กระจายตามพื้นที่ทั่วไปที่เคยเป็นที่ตั้งชุมชน
ด้วยปัจจัยเหล่านี้จึงเกิดมีพันธุ์ข้าวที่เป็นพันธุ์พื้นเมืองถูกพัฒนาโดยธรรมชาติขึ้นมาอย่างยาวนาน ชุมชนได้ใช้ปลูกเพื่อบริโภคต่อๆกันมานานหลายชั่วอายุคน จนมีลักษณะเฉพาะตามสายพันธุ์ แต่หลังจากที่ราชการได้มีนโยบายในการผลิตเพื่อขายแบบขนานใหญ่ มีการรับรองพันธุ์ข้าวใหม่ๆ ทำให้ชาวนาหันไปปลูกข้าวพันธุ์ใหม่ที่มีตลาด และให้ผลผลิตมากกว่าข้าวเหนียวเขี้ยวงูมากขึ้น ข้าวเหนียวเขี้ยวงูจึงหายไปจากท้องนาที่เป็นแหล่งปลูกเดิม

สายพันธุ์ข้าวเหนียวเขี้ยวงู 8974 เป็นหนึ่งใน 28 สายพันธุ์ข้าวเหนียวเขี้ยวงู ที่นักวิชาการข้าว ของศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย นำมาจากศูนย์ปฏิบัติการและเก็บเมล็ดเชื้อพันธุ์ ข้าวแห่งชาติ (Germplasm Bank)โดยปลูกทดสอบ วิจัย และคัดเลือก พบว่าสายพันธุ์ข้าวเหนียวเขี้ยวงู ที่มีหมายเลข 8974 กำกับ มีลักษณะตรงตามสายพันธุ์ ข้าวเหนียวเขี้ยวงู ให้ผลผลิตสูงกว่าสายพันธุ์ข้าวเหนียวเขี้ยวงูอื่น จากนั้นจึงให้ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรแปรรูปข้าวปลอดภัยแบบยั่งยืนแม่จัน ปลูกทดสอบ และเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อขึ้นทะเบียน สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ประเภท ข้าว ในพื้นที่ดั้งเดิมของ สายพันธุ์ ข้าวเหนียวเขี้ยวงู คือ ที่ราบแม่จัน หรือเดิมเรียกว่าที่ราบเชียงแสน เนื่องจากพื้นที่นี้เดิมมีปกครองแบบแขวงเดิมชื่อ แขวงเชียงแสนหลวง จนถึงปี พ.ศ. 2482 ปัจจุบันพื้นที่ได้ถูกจัดแบ่งเป็นหลายอำเภอ คือ แม่จัน เชียงแสน แม่สาย แม่ฟ้าหลวง ดอยหลวง

การปลูกข้าวเหนียวเขี้ยวงู 8974 มีการปลูกครอบคลุมในอำเภอ แม่จัน เชียงแสน แม่สาย และมีการเพาะปลูกที่อำเภอพานเพื่อเก็บข้อมูลเปรียบเทียบ โดยมีเป้าหมายจะขยายพื้นที่การเพาะปลูกให้ครบทุกอำเภอของจังหวัดเชียงราย

ข้าวเหนียวเขี้ยวงู 8974 ได้รับการพิจารณาอนุมัติเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นสิงบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของจังหวัดเชียงราย(GI ; Geographical Indication) ในนาม ข้าวเหนียวเขี้ยวงูเชียงราย (Khao Niew Khiaw Ngoo Chiang Rai) แล้ว เมื่อ วันที่ 26 มืถุนายน พ.ศ. 2562 โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพานิชย์ ในนามจังหวัดเชียงราย เป็นผู้ยื่น

จากผลการวิเคราะห์


ข้าวเหนียวเขี้ยวงู 8974 มีความเด่นเป็นพิเศษคือ เป็นข้าวเหนียวที่มีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidants) ในรูปของวิตามินอี โดยวิตามินอี ที่พบในข้าวเหนียวเขี้ยวงู 8974 เป็นวิตามินอี เพียงโครงสร้างเดียวที่มีประสิทธิภาพทางชีวเคมีมากที่สุด มีบทบาทสำคัญในขบวนการ การเผาผลาญอาหาร (metabolism) ในร่างกายโดยเฉพาะเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลด คอเลสเตอรอล สูงถึง 5.32 มิลลิกรัมต่อรำ 100 กรัม ข้าวเหนียวเขี้ยวงู 8974 จึงนับเป็นแหล่งวิตามินอีที่สำคัญ
หมายเหตุ วิตามินอี มีความจำเป็นต่อร่างกาย ควรได้รับ 7 -15 มิลลิกรัม ต่อวัน อ้างอิงจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Vitamin_E

นอกจากนี้ยังมีสารแกมมา (g–oryzanol) ซึ่งเป็นสารช่วยลดการเกิดปฏิกิริยา oxidation ซึ่งเป็นผลผลิตจาก คอเลสเตอรอล ที่อาจก่อให้เกิดสารประกอบที่ทำให้เป็นอันตรายต่อเซลต่างๆในหลอดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเส้นเลือดอุดตันในหัวใจ โรคที่เกี่ยวกับปอดและโรคมะเร็ง รวมทั้งอาการผิดปกติของวัยทอง
ซึ่งสอดคล้องกับการบอกเล่าจากแแพทย์แผนไทยว่า ในทางการแพทย์แผนไทย ข้าวเหนียวเขี้ยวงู ถูกใช้เป็นอาหารในการรักษาผู้ป่วยอาการข้างต้นร่วมกับวิธีการบำบัดในการแพทย์แผนไทยอีกด้วย
จากการวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ พบว่ามีปริมาณ 188.2 มิลลิกรัมต่อรำ 100 กรัม (เมล็ดข้าวอายุ 4 เดือน วิเคราะห์ข้อมูลโดยบริษัทห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด)

องค์ประกอบทางเคมีและคุณค่าทางโภชนาการในข้าวกล้อง 100 กรัม มีใยอาหาร (Total dietary fiber) ไขมัน และโปรตีน 3.74 2.68 และ 7.52 กรัม สูงกว่าพันธุ์ กข6 ร้อยละ 10.6 10.7 และ 0.4 ตามลำดับ มีพลังงาน 258.56 กิโลแคลอรี และคาร์โบไฮเดรต 76.09 กรัม (เมล็ดข้าวอายุ 6 เดือน วิเคราะห์ข้อมูลโดยศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี กรมการข้าว)